ม.ราชมงคลพระนคร รวมใจทอดกฐินสามัคคี ศรัทธาบุญหลั่งไหล สายธารปัจจัยกว่า 1.5 ล้านบาท ถวายเป็นพุทธบูชา

ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วย รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี รศ.ดวงสุดา เตโชติรส อดีตอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร ร่วมสะสมเสบียงบุญในพิธีทอดกฐินสามัคคี ณ วัดสนามไชย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับพุทธศาสนิกชนและชุมชนชาวบ้าน ต.สนามไชย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว่า 300 สาธุชนร่วมพิธีบุญ

ด้วยแรงจิตศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนชาวราชมงคลพระนคร ในการนี้ มหาวิทยาลัยได้รับปัจจัยทำบุญรวมทั้งสิ้น 1,062,583 บาท (หนึ่งล้านหกหมื่นสองพันห้าร้อยแปดสิบสามบาทถ้วน) และเมื่อรวมกับปัจจัยทำบุญจากคณะกฐินทุกกองของสาธุชนและชุมชนท้องถิ่นแล้ว รวมยอดปัจจัยทำบุญกฐินสามัคคี ประจำปี 2559 ทั้งสิ้นเป็นจำนวนปัจจัยที่สูงถึง 1,507,303 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนเจ็ดพันสามร้อยสามบาทถ้วน)

ในการนี้ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี กล่าวว่า “ขออนุโมทนาบุญกุศลในครั้งนี้มายังผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ขออานิสงส์แห่งบุญ ส่งผลให้ทุกท่านมีความสุขกายสุขใจ ผิวพรรณผ่องใส กิจการงานสำเร็จลุล่วง สุขภาพแข็งแรง และขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมตั้งจิตอธิษฐานน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

อนึ่ง วัดสนามไชย เดิมชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดขี้ไก่” สร้างขึ้นนับตั้งแต่ประมาณ พุทธศักราช 2144 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสนามไชย” ตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด บริเวณพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง หอสวดมนต์ และศาลาท่าน้ำ โดยวัดสนามไชยนี้ มีโบราณสถานที่สำคัญควรค่าแก่การศึกษาและเรียนรู้ ได้แก่ เจดีย์วัดสนามไชย ตั้งอยู่กลางสวนบริเวณสามแยกบางไทร ซึ่งเป็นส่วนที่แม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง อายุประมาณ 215 ปี ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 8 วา ความสูงเจดีย์ประมาณ 15 วาเศษ มีบันไดขึ้น 3 ทางคือ ทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

…กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน มิใช่เจ้าภาพเพียงคนเดียวอย่าง กฐิน หรือ มหากฐิน ทุกคนเป็นเจ้าภาพทั้งหมด ใครบริจาคมากน้อยอย่างไร ไม่เป็นประมาณ แต่เพื่อไม่ให้การจัดงานกฐินยุ่งยากสับสนมากเกินไป ก็มักจะต้ังคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดําเนินการ แล้วมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่นด้วย เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐิน รวมท้ังของบริวารดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อมีปัจจัยเหลือ ก็ถวายวัดไว้เพื่อทางวัดจะนําไปใช้จ่ายในทางท่ีควร เช่น การก่อสร้างศาสนสถาน การบูรณะปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น กฐินสามัคคีนี้ มักจะนําไปทอดยังวัดที่กําลังมีการก่อสร้างหรือกําลังบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นการสบทบทุนให้ส่ิงอันพึงประสงค์ของวัดสําเร็จเสร็จส้ินไปโดยเร็ว จึงเป็นมหากุศลของทุกท่านที่ร่วมสายธารบุญ

ที่มา: กองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร

Comments are closed.