ม.ราชมงคลพระนคร เยือนอาคารประวัติศาสตร์โลก “วังวรดิศ”

ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ นายกสภามหาวิทยาลัย และ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี ม.ราชมงคลพระนคร นำคณะผู้บริหารพร้อมด้วยบุคลากรและนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ อาคารประวัติศาสตร์โลก และหอสมุดดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ตามคำเชิญของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในการนี้ มล.ปนัดดา ดิศกุล ทายาทชั้นเหลนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้าของวังวรดิศในปัจจุบัน ให้เกียรติบรรยายถึงประวัติวังวรดิศ และพระกรณียกิจในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”
ภายหลังการบรรยาย คณะผู้บริหารและบุคลากรได้เยี่ยมชมอาคาร สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบริเวณหอสมุดดำรงราชานุภาพ จากนั้นได้ร่วมชมพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ ซึ่งจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ จำลองเสมือนเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และสิ่งของที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ของพระองค์ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากนั้นคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร ยังได้มีโอกาสในการรับโอวาท จากบุคคลสำคัญระดับชาติอีกท่านหนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก (ราษฎรอาวุโส นักวิชาการเกษตร ฉายา “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย
อนึ่ง พื้นที่วังวรดิศเดิมเป็นของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยได้พระราชทานที่ดินเพิ่มรอบๆ วัง เพื่อเป็นรางวัลที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนตัวตำหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าก่อสร้าง ต่อมา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้เปิดวังวรดิศเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ตามแนวคิดของ พล.ต. ม.ร.ว.สังขดิศ ดิศกุล พระบิดาผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เพื่อรำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ต้นราชสกุล “ดิศกุล” ที่ได้บำเพ็ญไว้เป็นคุณานุประการให้กับประเทศไทย และยูเนสโกได้ขอร่วมอนุรักษ์ยกย่องวังวรดิศเป็น “อาคารประวัติศาสตร์โลก” นับเป็นมรดกด้านสถาปัตยกรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย
กิจกรรมดังกล่าวเป็น กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกในการเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

ที่มา : กองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร

 

Comments are closed.